ทิปส์เด็ด

สอนเจ้าตัวน้อยให้เข้าใจความปลอดภัยการใช้อินเทอร์เน็ตเบื้องต้น

 

ก่อนอื่น เราอยากใช้โอกาสนี้อวยพรปีใหม่ ขอให้ผู้อ่านที่น่ารักทุกคนสามารถมองย้อนกลับไปในปีเก่าด้วยความทรงจำที่ดี และยิ่งดีมากขึ้นไปอีกในปีต่อๆ ไป ในส่วนของบทความทรูออนไลน์บทความแรกในปี 2563 นี้ เรายังคงอยากเก็บบรรยากาศของความสุขและร่องรอยของการเริ่มต้นใหม่ที่งานเฉลิมฉลองเมื่อไม่นานมานี้หลงเหลือเอาไว้ คงไม่มีสิ่งใดจะเป็นตัวแทนความรู้สึกดีๆ แบบนี้ได้ดีไปกว่า “เด็ก” ยิ่งเดือนนี้เป็นเดือนมกราคม ซึ่งทุกวันเสาร์ที่สองของเดือนนี้จะเป็น “วันเด็ก” เราจึงถือโอกาสนี้ยกประเด็นความปลอดภัยในการใช้งานอินเทอร์เน็ตสำหรับเจ้าตัวน้อยมาแบ่งปันกัน

 

จากบทความออนไลน์ของเดอะการ์เดียน (The Guardian) เรื่อง “How do I keep my children safe online? What the security experts tell their kids.” (ทำอย่างไรเจ้าตัวน้อยจะปลอดภัยในโลกออนไลน์ และสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญด้านนี้สอนลูกของพวกเขาเอง) ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงความปลอดภัยในการใช้งานอินเทอร์เน็ตได้แบ่งปันคำแนะนำที่พวกเขาให้แก่เจ้าตัวน้อยของตัวเองที่ยังคงคิดว่าอินเทอร์เน็ตคือสถานที่แสนวิเศษที่สามารถตอบได้ทุกคำถามเกี่ยวกับโลกใบนี้ที่พวกเขาอาศัยอยู่ได้ แล้วเรื่องไวรัส ฟิชชิง (phishing) มารยาทบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก และปัญหาด้านความปลอดภัยอื่นๆ ล่ะ เราจะสอนพวกเขาเรื่องนี้อย่างไร หลายคนอาจจะมองว่าการสอนให้เด็กใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยนั้นยากกว่าที่คิด แต่ไม่ต้องกังวล เพราะเรามีทางออกให้กับปัญหานี้ มาดูว่าผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยในการใช้อินเทอร์เน็ตสอนลูกของตัวเองกันอย่างไรดีกว่า

 

 

ยิ่งเร็วเท่าไร ยิ่งดี

เดวิด เอ็มม์ (David Emm) นักวิจัยอาวุโสด้านความปลอดภัยในการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่แคสเปอร์สกี แล็บ (Kaspersky Lab) กล่าวว่า สิ่งแรกๆ ที่ผู้ปกครองควรทำเมื่อพูดถึงเรื่องความปลอดภัยในการใช้งานอินเทอร์เน็ต คือ การเริ่มพูดคุยเรื่องนี้ตั้งแต่ที่ลูกยังเด็ก เพราะว่าลูกอาจยังใช้คอมพิวเตอร์ร่วมกับคุณอยู่ ซึ่งเปิดโอกาสให้คุณสอนเรื่องนี้ได้ง่ายขึ้น

 

สิ่งสำคัญที่ต้องชี้ให้เห็นคือความจริงที่ว่า โลกที่พวกเขาเห็นผ่านจอคอมพิวเตอร์นั้นไม่ต่างจากโลกแห่งความจริงที่พวกเขาอาศัยอยู่ มีทั้งสิ่งที่ปลอดภัยและไม่ปลอดภัยเหมือนกัน ดังนั้นสิ่งที่ดีที่สุดคือการเตรียมพร้อมและป้องกันเอาไว้ก่อน ซึ่งจะนำไปสู่ประเด็นต่อไป คือ เราต้องทำอย่างไรถึงจะป้องกันตัวเองจากภัยคุกคามในโลกออนไลน์ได้ เมื่อพูดถึงประเด็นนี้ ก็หนีไม่พ้นการพูดถึงวิธีที่ง่ายที่สุดในการสร้างความปลอดภัยในโลกออนไลน์ นั่นคือ การตั้งรหัสผ่าน (password) ซึ่งเรียกได้ว่ายิงปืนนัดเดียว ได้นกสองตัวเลยทีเดียว

 

เมื่อลูกของคุณโตขึ้นและเริ่มใช้คอมพิวเตอร์ได้เอง ลองให้พวกเขาสร้างบัญชีเพื่อเล่นเกมออนไลน์บนเว็บไซต์อย่าง Moshi Monsters หรือ Club Penguin คุณจะได้อาศัยจังหวะนี้ช่วยลูกตั้งรหัสผ่านที่เหมาะสม เพื่อเพิ่มความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ และอธิบายให้พวกเขาเข้าใจถึงความสำคัญของการตั้งรหัสผ่านให้ต่างกันสำหรับแต่ละบัญชี รวมถึงผลกระทบในทางลบที่ตามมา หากไม่ทำเช่นนั้น

 


จงอย่าปฏิบัติต่อผู้อื่นในสิ่งที่ท่านไม่ปรารถนาจะให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อท่าน

ขงจื๊อกล่าวว่า “จงอย่าปฏิบัติต่อผู้อื่นในสิ่งที่ท่านไม่ปรารถนาจะให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อท่าน” เชลาห์ แม็กเมนัส (Shelagh McManus) ผู้สนับสนุนความปลอดภัยบนโลกออนไลน์สำหรับซอฟแวร์นอร์ตัน (Norton) ของบริษัทไซแมนเทค (Symantec) มีคำแนะนำเกี่ยวกับความปลอดภัยในโลกออนไลน์ที่ค่อนข้างคล้ายกับคำกล่าวข้างต้น แต่เปลี่ยนเป็น “ถ้าคุณไม่ทำสิ่งใดต่อหน้า ก็อย่าทำสิ่งนั้นในโลกออนไลน์” ยกตัวอย่างเช่น คุณคงไม่พูดจาหยาบคายกับเพื่อนหรือคนแปลกหน้าที่เพิ่งเดินผ่านคุณไปบนถนนหรอกใช่ไหม

 

เพียงเพราะคุณรู้สึกว่ามีระยะห่างระหว่างหน้าจอคอมพิวเตอร์ของคุณกับคนที่กำลังพูดอยู่ อย่าลืมว่าอันที่จริงแล้วคุณกำลังพูดอยู่กับคนจริงๆ แต่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เท่านั้น กล่าวได้อีกนัยหนึ่งคือสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ล้วนแล้วแต่มีผลในโลกของความเป็นจริง

 

เมื่อไม่นานมานี้มีประเด็นที่เป็นที่ถกเถียง เพราะพบว่าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลของหลายบริษัทดูโปรไฟล์บนโซเชียลมีเดียของผู้สมัครงานเพื่อประกอบการตัดสินใจรับเข้าทำงานด้วย หลายคนออกมาแสดงความเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งที่สมควรทำหรือไม่ แต่ทว่าประเด็นไม่ได้อยู่ที่ถูกหรือผิด แต่สิ่งที่เราควรจะให้ความสำคัญ คือ ความจริงที่ว่าสิ่งที่เราทำบนโลกออนไลน์จะคงอยู่ตลอดไปและสามารถกลับมาหลอกหลอนเราได้ทุกเมื่อต่างหาก

 

นี่เป็นเหตุผลที่เชลาห์และสามีของเธอตั้งคำถามขึ้นมาลอยๆ เกี่ยวกับสิ่งที่ลูกของพวกเขาโพสต์ในโลกออนไลน์ เพื่อเตือนให้เห็นถึงความสำคัญของการตั้งค่าโปรไฟล์บนสื่อโซเชียลมีเดียให้เป็นส่วนตัว ถ้าไม่อยากให้พ่อ แม่ หรือว่าที่เจ้านายในอนาคตมาถามว่าจริงๆ แล้ววันนั้น เวลานี้ ทำอะไรอยู่กับเพื่อนกันแน่ อย่าให้โป๊ะล่ะ แล้วจะหาว่าไม่เตือน!

 

Timeo Danaos et dona ferentes

ประโยคนี้คืออะไร ดูเหมือนภาษาต่างดาวเลย อันที่จริงแล้ว ประโยคนี้แปลว่า “จงระวังคนแปลกหน้าที่มาพร้อมของขวัญ” เพราะผู้ที่นำของขวัญมาให้ มักจะมีเจตนาอื่นแอบแฝงเสมอ และบ่อยครั้งก็เป็นเจตนาที่ไม่ดีเสียด้วย เมื่อทราบความหมายแล้ว ก็ได้เวลาเฉลยแล้วว่าเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยบนโลกออนไลน์สำหรับเด็กอย่างไร

 

ชูลแมน (Amichai Shulman) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) ของบริษัทรักษาความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ชั้นนำอย่างอิมเพอร์วา (Imperva) กล่าวว่าเขามีความเชื่อง่ายๆ คือ ผู้ใหญ่ก็สามารถตกเป็นเหยื่อของการจู่โจมทางไซเบอร์ได้ ดังนั้นเราจะคาดหวังให้เด็กรู้ดีเท่าทันกว่าเราไม่ได้ เพราะโดยธรรมชาติ เด็กๆ มีบุคลิกที่ช่างสงสัย อยากรู้อยากเห็นจนไม่ทันได้ระวังตัวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว  

 

นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงควรสอนให้ลูกระวังคนแปลกหน้าในโลกออนไลน์ที่มาพร้อมของขวัญ เช่นเดียวกับที่ควรจะระวังในโลกของความเป็นจริงด้วย เขาจะไม่อนุญาตให้ลูกเปิดสิ่งที่แนบมากับจดหมายขยะ เช่นเดียวกับการไม่อนุญาตให้เปิดพัสดุที่ไม่รู้ว่าใครส่งมา ไม่ว่าพวกเขาจะอยากรู้ว่าอะไรอยู่ในอีเมลหรือในกล่องมากแค่ไหนก็ตาม เพราะถ้าเปิดออกมาแล้วกลายเป็น มัลแวร์ ไวรัส หรืออะไรสักอย่างที่สามารถทำร้ายเด็กได้ล่ะ กันไว้ก่อนย่อมดีกว่าแก้เสมอ

 

แล้วคุณล่ะมีวิธีจัดการความปลอดภัยในโลกอินเทอร์เน็ตอย่างไร ทั้งกับลูกน้อยหรือสมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ คุณจะจัดการด้วยวิธีที่ต่างออกไปจากที่เราเสนอไว้ในบทความนี้หรือไม่ เมื่อมันเป็นเรื่องความปลอดภัยของคนที่คุณรัก หรือคุณจะมีวิธีที่ต่างออกไปในแบบของตัวเอง ทั้งหมดนี้ไม่มีคำตอบที่ถูกหรือผิดหรอก เพราะไม่ว่าจะเป็นในโลกของความเป็นจริง หรือโลกออนไลน์ สิ่งที่สำคัญกว่าคือคุณได้เริ่มทำอะไรที่จะการันตีความปลอดภัยให้คนที่คุณรักตั้งแต่วันนี้แล้วหรือยัง