ทิปส์เด็ด

อัปเดตกลโกงต้องรู้ของมิจฉาชีพไซเบอร์

 

นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เมื่อ พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา ชีวิตบนโลกออนไลน์ก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตปกติของผู้คนทั่วโลก คุณสามารถหาคำตอบของเรื่องราวต่างๆ ที่อยากรู้ ช้อปปิ้ง ทำธุรกรรม เข้าถึงความบันเทิง สร้างอาชีพ สร้างรายได้ รวมถึงติดต่อกับครอบครัวที่อยู่ไกล หรือสร้างมิตรภาพกับเพื่อนทุกมุมโลกได้ผ่านออนไลน์ แต่ทุกสังคมก็มักจะมีทั้งคนดีและมิจฉาชีพ ดังนั้น การรู้เท่าทันกลโกง และภัยร้ายออนไลน์ต่างๆ ย่อมช่วยให้คุณและคนรอบข้างไม่หลวมตัวตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพไซเบอร์ที่แฝงตัวเข้ามาปะปนได้โดยง่าย ทำให้เราสามารถใช้ชีวิตบนโลกออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยไร้กังวล เรามาอัปเดตกันดีกว่าว่าในช่วงที่ผ่านมา โจรไซเบอร์เหล่านี้สรรหากลโกงอะไรมาหลอกลวงเราบ้าง และมีวิธีป้องกันตัวให้ห่างไกลจากผู้ไม่ประสงค์ดีเหล่านี้ได้อย่างไร

 

Romance Scam ลวงรักนักต้มตุ๋น

เว็บไซต์ ETDA ได้ให้คำจำกัดความของ Romance Scam ไว้ว่า หมายถึง การที่มิจฉาชีพใช้ช่องทางออนไลน์เข้ามาหลอกลวงเหยื่อให้หลงรัก เชื่อใจ โดยให้ความหวังว่าจะแต่งงาน หรือใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันตลอดไป จากนั้นก็แสวงหาประโยชน์จากความรัก ความไว้วางใจ ทำให้เหยื่อหลวมตัว ถูกหลอกเพราะรักแล้วชิ่งหนี ซึ่งในประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ได้ระบุว่า ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2561 - 31 พฤษภาคม 2562 มีสถิติรับเรื่องคดีที่เป็น Romance Scam จำนวนถึง 332 ราย และรวมมูลค่าความเสียหายนับร้อยล้านบาท ดังนั้น ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียในการสร้างมิตรภาพใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น การหาเพื่อนต่างภาษาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ หรือหาคนรักอยู่ล่ะก็ Romance Scam ก็ไม่ใช่เรื่องไกลตัวนัก

 

สำหรับวิธีการที่มิจฉาชีพใช้ในการหลอกลวง มักทำกันเป็นขบวนการ โดยแฝงตัวตามแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ เลือกเหยื่อที่เป็นคนโสดตามหารัก จากนั้นก็จะทำทีทักแชทพูดคุย สร้างความสนิทสนม ก่อนจะหว่านล้อมด้วยคำหวาน แล้วสร้างสถานการณ์ เช่น หลอกเหยื่อว่าจะส่งสิ่งของราคาสูงมาให้เป็นของขวัญ แต่ของนั้นๆ เกิดปัญหา ต้องเสียภาษีนำเข้าศุลกากรเพิ่ม หรือเป็นสิ่งของต้องห้ามผิดกฏหมาย หากเหยื่อไม่อยากมีความผิดติดร่างแห ก็ต้องโอนเงินไปให้เพื่อเป็นค่าดำเนินการต่างๆ หรือบางครั้งก็อ้างว่ากำลังประสบปัญหาทางบ้าน หรือเดินทางไปต่างแดนแล้วต้องการความช่วยเหลือด้านการเงินโดยด่วน หากคุณกำลังเริ่มต้นพูดคุยสานสัมพันธ์กับใครสักคน ก็ควรหมั่นทำตัวขี้สงสัย และสวมวิญญาณนักสืบโคนันเอาไว้ด้วย 

 

มาถึงวิธีเช็กว่าคนที่คุณกำลังพูดคุยด้วยบนโลกออนไลน์นั้น ใช่ตัวจริง หรือที่แท้เป็นแค่มิจฉาชีพที่สร้างตัวตนปลอมๆ ขึ้นมาหลอกกันแน่ คุณอาจลองเช็กดูว่า เขาคนนั้นมีเพื่อนร่วมกับคุณไหม ถ้าไม่มี ลองนำรูปโปรไฟล์ หรือรูปภาพอื่นๆ ของเขาไปตรวจเช็กผ่านบริการ Google Image เพื่อสืบหาร่องรอยทางดิจิทัล ในขณะที่คุณเองก็ไม่ควรเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลให้กับคนที่เพิ่งรู้จัก อย่าเห็นแก่ของฟรี จนลืมคิดพิจารณา ที่สำคัญคือ ควรมีสติทุกครั้งก่อนโอนเงิน เพราะการแสดงความรักนั้นไม่ใช่แค่เรื่องของวัตถุนอกกาย และคนที่รักเราจริง ก็คงไม่อยากทำให้เราต้องลำบากหรอกจริงไหม

 

ซื้อออนไลน์อลเวง

ข้อมูลจาก เว็บไซต์ Brandbuffet กล่าวถึงผลการศึกษา “Future Shopper 2021” โดย วันเดอร์แมน ธอมสัน ประเทศไทย (Wunderman Thompson) พบว่า คนไทยมีอัตราการใช้ช่องทางช้อปปิ้งออนไลน์สูงที่สุดในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ในทางกลับกัน นี่อาจเป็นการเปิดโอกาสให้มิจฉาชีพเข้ามาฉกฉวยประโยชน์มากขึ้นตามไปด้วย ยืนยันโดยสถิติจากศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ ที่ได้ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม – เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2564 มีผู้ร้องเรียนเฉพาะเรื่องซื้อขายออนไลน์เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉลี่ย 2,221 ครั้งต่อเดือน เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีจำนวนเฉลี่ย 1,718 ครั้งต่อเดือน

 

สำหรับกลโกงหลอกขายออนไลน์ที่พบบ่อย มีตั้งแต่การประกาศขายสินค้าที่มีราคาต่ำกว่าท้องตลาด เมื่อผู้ซื้อโอนเงินไปให้ ก็ไม่ได้รับสินค้า หรือสินค้าที่ได้ไม่ตรงปก ไม่มีคุณภาพ ไม่เหมือนรูปสินค้าที่โฆษณาไว้ ดังนั้น เพื่อป้องกันการถูกหลอก ขาช้อปจึงควรเช็กก่อนซื้อ โดยตรวจสอบความน่าเชื่อถือของผู้ขายและร้านค้าก่อนทุกครั้ง ซึ่งทำได้ด้วยการลองดูอายุของร้านค้าออนไลน์นั้นๆ ว่าเปิดมานานแค่ไหนแล้ว มีรีวิวจากลูกค้าคนอื่นๆ ไหม ภาษาที่เขียนในรีวิวดูเป็นธรรมชาติเหมือนถูกเขียนด้วยคนจริงๆ หรือไม่ จากนั้นลองเทียบราคาสินค้าที่ลงประกาศกับราคาในท้องตลาดดูว่าถูกหรือแพงเกินจริงไหม ก่อนจะนำประวัติของผู้ขาย เช่น ข้อมูลเลขบัญชีธนาคาร เลขพร้อมเพย์ที่ใช้รับโอนเงินค่าสินค้า หรือชื่อ-นามสกุล ไปสืบค้นในเว็บไซต์ Blacklistseller ว่ามีประวัติฉ้อโกงหรือไม่ แม้ขั้นตอนอาจมีความยุ่งยากเพิ่มขึ้นอีกหน่อย แต่ก็เข้าตำรา “ช้าแต่ชัวร์” นะ

 

กับดักหัวใจนายมัลแวร์

อีกหนึ่งภัยร้ายไซเบอร์ที่ไม่ใช่ของใหม่ แต่ก็ระบาดอย่างต่อเนื่องไม่เคยหายไปไหน นั่นคือ มัลแวร์ หรือโปรแกรมที่ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อประสงค์ร้ายต่อคอมพิวเตอร์ และข้อมูลสำคัญของคุณ การถูกโจมตีด้วยมัลแวร์ไม่ใช่เรื่องสนุกแน่ ยิ่งถ้าคุณเป็นคนที่ใช้โซเชียลมีเดียเป็นประจำ ก็อาจผ่านตา หรือเคยเผลอคลิกมาก่อน ซึ่งเมื่อมัลแวร์นั้นได้แฝงเข้าไปในคอมพิวเตอร์ของคุณแล้ว มันก็จะเล่นงาน และขัดขวางระบบการทำงานต่างๆ ของเครื่อง เปิดทางให้ผู้ไม่หวังดีเข้าควบคุมคอมพิวเตอร์ของคุณ รวมถึงเข้ามาล้วงข้อมูลของคุณไป เช่น รหัสผ่านเข้าบัญชีต่างๆ หมายเลขบัตรประชาชน รหัสบัตรเดบิต หรือบัตรเครดิต จนก่อให้เกิดความเสียหายอย่างที่ไม่อาจคาดถึง

 

มุกที่มิจฉาชีพชอบใช้เพื่อหลอกฝังมัลแวร์ในคอมพิวเตอร์ของคุณ ก็คือ การนำลิงก์มัลแวร์ไปฝากบนยูทูป หรือโพสต์เป็นคอมเมนท์ตามเพจดัง โดยจะเขียนกำกับด้วยข้อความที่อ่านแล้วชวนให้คลิก เช่น เนื้อหาข่าวที่อยู่ในกระแส ช็อตเด็ด คลิปดัง หรือลิงก์ดาวน์โหลดโปรแกรม หรือคำต่างๆ ที่เล่นกับความอยากรู้ของคน วิธีป้องกันการติดกับดักที่ง่ายที่สุด นอกเหนือจากการติดตั้งโปรแกรมป้องกันไวรัสลงในคอมพิวเตอร์ รวมทั้งหมั่นเปลี่ยนรหัสผ่านต่างๆ อยู่บ่อยๆ แล้ว คุณควรมีสติ และ  “คิด” ก่อน “คลิก” ลิงก์ใดๆ ทุกครั้ง เช่น หมั่นสังเกตลิงก์ที่กำลังจะคลิกว่ามีที่มาจากไหน ดูน่าเชื่อถือหรือไม่ ชื่อลิงก์สะกดถูกต้องทุกตัวอักษรหรือเปล่า หากเห็นว่าน่าสงสัยก๋็ให้หลีกเลี่ยงไว้ก่อน และไม่ควรดาวน์โหลดโปรแกรมแปลกๆ หรือแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก เพียงเท่านี้ก็อยู่ห่างจากการโจมตีของมัลแวร์มหาภัยได้ไม่ยากแล้ว