Sustainability

Say No to Plastic Bottles ปรับชีวิต เปลี่ยนโลกให้น่าอยู่
True Blog 15 ก.ย. 2565

นับตั้งแต่วันที่ขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่มผลิตขึ้นมา โลกของเราก็เปลี่ยนแปลงไป

 

การบริโภคเครื่องดื่มจากขวดพลาสติกนั้นแสนสะดวกสบาย ยอดขายเครื่องดื่มบรรจุขวดที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีการผลิตขวดน้ำพลาสติกที่สูงขึ้นอย่างมหาศาล เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค และในที่สุดก็เป็นการสร้างขยะขวดพลาสติกที่กลายเป็นปัญหาสะสมมาเนิ่นนานอย่างที่ชาวโลกไม่รู้ตัว

ลองสังเกตง่าย ๆ ถ้าวันนี้เรากระหาย อยากดื่มเครื่องดื่มเพิ่มความรู้สึกสดชื่น เราก็มักจะเดินไปที่ร้านค้า หยิบน้ำดื่มหรือเครื่องดื่มบรรจุพลาสติกขึ้นมาแล้วเดินไปจ่ายเงิน ก่อนเปิดดื่ม และทิ้งขวดเหล่านั้นไปโดยอัตโนมัติ หนึ่งคำถามฉุกคิดคือ เราเคยย้อนมองกันไหมว่า ที่ผ่านมา เราทิ้งขวดพลาสติกกันมานานและมากแค่ไหนแล้ว และจุดหมายปลายทางของขวดพลาสติกเหล่านั้นจะเป็นอย่างไร ทำไมทุกวันนี้เราถึงได้เห็นภาพขยะขวดพลาสติกและขยะอื่น ๆ กองกันเป็นภูเขาล้นโลก

 

 

การหลั่งไหลของพลาสติก

 

 

ตั้งแต่มีการเริ่มผลิตพลาสติกในช่วงทศวรรษที่ 20 มนุษย์เราได้ใช้ประโยชน์จากพลาสติกมากมาย และนำไปสู่ต้นกำเนิดของบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ปูทางให้เกิดการผลิตสินค้าในปริมาณมหาศาล สินค้านับไม่ถ้วนที่เราใช้ในปัจจุบันต่างก็ต้องพึ่งพาบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพื่อความปลอดภัย พร้อมความสะดวกในการขนส่งและการบริโภค ซึ่งรวมถึงขวดพลาสติกบรรจุน้ำดื่มและเครื่องดื่มที่กลายเป็นสิ่งจำเป็นมาจนถึงปัจจุบัน

 


เมื่อวันเวลาผ่านไป สิ่งที่ตามมาจากความสะดวกสบายในการบริโภค คือขยะพลาสติกที่นับวันยิ่งล้นโลก ข้อมูลจาก Reuters ระบุว่า ในปี 2018 ปริมาณการใช้ขวดพลาสติกทั่วโลกในหนึ่งปีอยู่ที่ 481.6 พันล้านขวด ส่วนสถิติการใช้ขวดพลาสติกในประเทศไทยสูงถึงปีละ 4,000 ล้านขวด
รู้หรือไม่ว่า จำนวนขวดพลาสติกมหาศาลขนาดนี้ ไม่สามารถนำมารีไซเคิลได้ทั้งหมด ขยะพลาสติกเหล่านี้จะยังคงอยู่บนโลกของเราไปเป็นร้อยปี กว่าจะย่อยสลายไปด้วยตัวเอง

 

 

 

 

เรื่องจริงของขวดน้ำพลาสติก

 

 

หลาย ๆ คนอาจคิดว่า ขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่ม สามารถรีไซเคิลและนำกลับมาใช้ได้ใหม่ แต่ในความเป็นจริงแล้วยังมีข้อเท็จจริงอีกหลายประการที่ควรตระหนักให้มากขึ้น ลองมาดูข้อมูลน่ารู้เหล่านี้กัน

 

 

  • ขวดพลาสติกที่นำไปรีไซเคิลได้มีเพียง 1 ใน 5 เท่านั้น ขวดพลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้จะกลายเป็นขยะและฝังกลบอยู่ที่ไหนสักแห่งบนโลกนี้

  • ทุกวินาทีที่กำลังดำเนินไป จะมีขวดพลาสติกประมาณ 1,500 ขวดกลายเป็นขยะในบ่อฝังกลบหรือถูกโยนลงทะเล

  • ขวดพลาสติก PET 1 ขวด ใช้เวลาถึง 700 ปีจึงจะเริ่มย่อยสลาย เพราะแบคทีเรียที่ช่วยในการย่อยวัสดุธรรมชาติ ไม่ชอบพลาสติกที่มีสารพื้นฐานจากปิโตรเลียม  อาจกล่าวได้ว่า ขวดพลาสติกเหล่านี้อาจจะคงอยู่ตลอดไป

  • ร้อยละ 90 ของขยะในทะเลที่พัดพาขึ้นมาตามชายหาดหลายๆ แห่งคือขวดน้ำพลาสติก โดยเฉพาะฝาที่ตกค้างอยู่ตามหาดทรายและซอกหิน

  • แม้ว่าขวดพลาสติกจะนำไปรีไซเคิลได้ แต่กระบวนการรีไซเคิลต้องใช้พลังงานมหาศาล กลายเป็นส่วนหนึ่งในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาในบรรยากาศ



  •  
  •  

 

 

ทรู ร่วมปรับเปลี่ยน เพื่อโลกที่ดีกว่า

 

 

ทรู เป็นหนึ่งในองค์กรไทยที่มุ่งเน้นการพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายด้านความยั่งยืน ใน 3 มิติ คือ มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสังคม และมิติด้านสิ่งแวดล้อม โดยในด้านสิ่งแวดล้อม ทรูมีนโยบาย Net Zero Carbon โดยเฉพาะเรื่องการลดใช้พลาสติก ด้วยเป้าหมายลดการนำขวดพลาสติกเข้ามาในอาคารให้มากที่สุดจนเหลือเป็นศูนย์ ตอกย้ำความพร้อมเดินหน้าสู่การเป็นองค์กร Carbon Neutral ด้วยความมุ่งมั่นลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ ในปี 2573 ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายด้านความยั่งยืนของทรู

 

 

ทรูได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ ด้วยความกล้าคิด กล้าทำ และใส่ใจสร้างสรรค์สิ่งที่ดีที่สุด พร้อมดูแลคุณภาพชีวิตของพนักงานทรู ควบคู่ไปกับการส่งต่อสิ่งดี ๆ ให้สังคม และดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน หนึ่งในนั้นคือโครงการ Say No to Plastic Bottles

 

 

ดื่มน้ำกรอง RO สุดสะอาด ร่วมกัน Say No to Plastic Bottles

 

 

ทรู รวมพลังพนักงานร่วมกัน ลด ละ เลิกการใช้ขวดน้ำพลาสติก โดยหันมาพกแก้วน้ำและขวดน้ำส่วนตัวมาที่ออฟฟิศ เพื่อบรรจุน้ำกรองที่มีความบริสุทธิ์สำหรับดื่ม ที่ทรูจัดเตรียมไว้ให้พนักงานโดยเฉพาะ ซึ่งก็คือ RO Water นั่นเอง

 

 

โดย ทรู เลือกใช้อุปกรณ์มาตรฐานสูง และกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน สร้าง RO Water Plant เครื่องผลิตน้ำ RO + UV ด้วยกำลังการผลิต 24,000 ลิตรต่อวัน ผ่านมาตรฐาน NSF / ASME BPE ในห้องปลอดเชื้อ Class 100,000 ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกับโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย เพื่อผลิตน้ำดื่มคุณภาพสูงเทียบเท่าน้ำกลั่น  มีความบริสุทธิ์สูง ไว้ให้พนักงานได้บริโภคอย่างมั่นใจ และใช้ท่อสแตนเลส 316L ซึ่งเป็นเกรดทางการแพทย์สำหรับจ่ายน้ำไปยังตู้กดน้ำมากกว่า 60 จุดกระจายทั่วทุกชั้นในอาคารทรู ทาวเวอร์ 1 

 

 

 

 

พนักงานสามารถนำขวดหรือแก้วน้ำมาเติมน้ำดื่ม RO ที่สะอาด ถูกสุขอนามัย แทนการซื้อน้ำดื่มบรรจุขวดพลาสติก ซึ่งจากสถิติในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขขยะประเภทขวดพลาสติกในอาคารทรู ทาวเวอร์ มีจำนวนเฉลี่ยปีละ 400,000 ขวด เมื่อพนักงานทรูร่วมใจกันคนละไม้คนละมือ ใน 1 ปี จะสามารถลดขยะพลาสติกได้ถึง 409,404 ขวด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้ออกไซด์ได้ถึง 53.54 ตัน 

 

 

RO Water Plant นับเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้ทรูบรรลุเป้าหมายที่ท้าทายในการลดการใช้พลาสติก ในขณะเดียวกัน ยังสามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี สุขภาพที่ดี ให้แก่บุคลากรในองค์กรอีกด้วย

 

 

ตู้รีฟัน เปลี่ยนการทิ้งขวดพลาสติกเป็นพลังสร้างสรรค์

 

 

ส่วนใครที่เข้ามาติดต่ออาคารทรู หรือพนักงานที่ใช้ขวดน้ำดื่มพลาสติก ยังสามารถร่วมนำขวดพลาสติกแบบ PET ชนิดใส เช่น ขวดน้ำดื่ม น้ำอัดลม น้ำชา น้ำหวานต่าง ๆ มาหยอดคืนที่ Refun Machine หรือเรียกกันว่า ตู้รีฟัน ที่ทรูได้ติดตั้งไว้ที่บริเวณชั้น G อาคารทรู ทาวเวอร์ 1 เพื่อให้เครื่องตรวจสอบคิดเป็นแต้มสะสม เปลี่ยนการทิ้งเป็นพลังสร้างสรรค์ ทำให้การรีไซเคิลง่ายขึ้น เปลี่ยนขยะเป็นแต้มสะสม ไปแลกของรางวัลต่าง ๆ หรือร่วมบริจาคสำหรับทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม ซึ่งขวดเหล่านั้นจะถูกนำไปย่อยสลายอย่างถูกวิธีต่อไป 

 

 

 

 

บางครั้งเรื่องราวใหญ่ที่ยิ่งใหญ่ ก็เกิดขึ้นจากสิ่งเล็ก ๆ ที่ส่งต่อกันให้เกิดเป็นพลังสร้างสรรค์ จนกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพียงแค่เริ่มต้นที่ตัวเรา คนละไม้คนละมือก็สามารถช่วยให้โลกใบนี้น่าอยู่ยิ่งขึ้นได้ 

 

 

 

อ่านต่อ
องค์กรยุคใหม่ผูกหัวใจนักลงทุนและพนักงานด้วยความยั่งยืน
True Blog 06 มิ.ย. 2565

เชื่อว่าหลาย ๆ คน น่าจะเคยได้ยินเรื่องของ ‘ความยั่งยืน’ กันมามากมาย รวมถึงองค์กรต่าง ๆ ก็ได้ปรับตัวนำเรื่องของความยั่งยืนมาใช้ในองค์กรกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งคำถามที่ตามมาก็คือ ทำไมองค์กรชั้นนำทั้งระดับโลก รวมถึงองค์กรในประเทศไทยเอง ต่างก็ให้ความสำคัญในเรื่องของความยั่งยืน และไม่เพียงแต่องค์กรเท่านั้น แม้กระทั่งพนักงานรุ่นใหม่ต่างก็ให้ความสำคัญในเรื่องของความยั่งยืนเช่นกัน

ก่อนหาคำตอบนี้ได้ ขอชวนทุกคนมาเรียนรู้และทำความรู้จักเรื่องความยั่งยืนไปด้วยกัน

ทำไมองค์กรยุคใหม่ต้องใส่ใจความยั่งยืน

องค์การสหประชาชาติได้กล่าวถึงเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืนไว้ใน Brundtland Report (รายงานคณะกรรมาธิการโลกว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา) ว่าเป็นการพัฒนาโดยตอบสนองความต้องการในปัจจุบัน ซึ่งการพัฒนานี้จะต้องไม่กระทบต่อทรัพยากรที่จะส่งผลต่อคนรุ่นหลัง และไม่ลดคุณภาพชีวิตในปัจจุบัน โดยเป็นการมุ่งเน้นการรักษาความสมดุลของสิ่งแวดล้อมและมนุษย์นั่นเอง 

หากเราไม่เห็นความสำคัญของความยั่งยืน สิ่งที่น่ากลัวในอนาคตก็คือ เรื่องของพลังงานเชื้อเพลิงต่าง ๆ อาจหมดไป สัตว์หลายชนิดก็จะสูญพันธุ์ คุณภาพของน้ำที่ควรสะอาดถูกลดทอนลงไป อากาศบริสุทธิ์ถูกทำลาย ชั้นบรรยากาศโลกเกิดความเสียหาย แต่หากนักธุรกิจให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจที่ผสมผสานความยั่งยืนกันคนละไม้คนละมือ ปัญหาที่กล่าวมาก็จะเบาบางลงไปได้

ไม่น่าแปลกใจที่องค์กรในยุคนี้ต่างปรับตัวและพัฒนาความก้าวหน้าในด้านต่าง ๆ ไปพร้อมกับการเน้นความสำคัญเรื่องความยั่งยืนในมิติต่าง ๆ ต่อไปจะไปสำรวจว่า ความยั่งยืนที่มาควบคู่กับการทำธุรกิจเป็นอย่างไร

ความยั่งยืนที่มาควบคู่กับธุรกิจ

สำหรับการทำธุรกิจที่ควบคู่ไปกับความยั่งยืนนี้ Talal Rafi ซีอีโอของ Sesame Associates ซึ่งเป็นตัวแทนธนาคารโลกด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้นำระดับโลกรุ่นใหม่ของ World Economic Forum (ตำแหน่งในขณะที่บทสัมภาษณ์ได้รับการเผยแพร่บนเว็บไซต์ Forbes เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021) ได้ให้สัมภาษณ์ในเว็บไซต์ Forbes เกี่ยวกับประเด็นที่ว่า ทำไมองค์กรจึงควรเน้นเรื่องของความยั่งยืน โดยเขาเล่าถึงข้อมูลที่แบ่งออกเป็น 3 ข้อดังต่อไปนี้

1.ลงทุนได้ในระยะยาว

กว่า 90% ของเจ้าของธุรกิจและผู้บริหารต่างทราบกันดีถึงเรื่องของความยั่งยืน แต่มีองค์กรเพียง 60% เท่านั้นที่จะทำธุรกิจควบคู่ไปกับความยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งตัวอย่างของนักธุรกิจระดับโลกที่ทำธุรกิจโดยเน้นความยั่งยืนเป็นหลักที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากก็คือ Elon Musk โดยพันธกิจหลักของ Tesla คือ เร่งการเปลี่ยนผ่านโลก สู่การใช้พลังงานอย่างยั่งยืน แน่นอนว่าTesla  ประสบความสำเร็จโดยการผลิตทั้งรถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่  รวมถึงโซลูชันด้านพลังงาน จะเห็นได้ว่า การที่ Elon Musk ทำธุรกิจควบคู่ไปกับความยั่งยืนนี้ นอกจากจะทำให้โลกมีความยั่งยืนมากขึ้น ธุรกิจของ Elon Musk ก็สามารถสร้างความมั่งคั่งได้ในระยะยาวอีกด้วย ทั้งนี้จากข้อมูลของ McKinsey ก็ได้บอกไว้ว่า การมีกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนจะช่วยให้บริษัทสามารถลงทุนในระยะยาวได้

2.คนรุ่นใหม่สนใจองค์กรที่เน้นความยั่งยืน

ปัจจุบัน คนรุ่นมิลเลนเนียลเป็นคนกลุ่มใหญ่ที่สุดของประชากร การสำรวจโดย Nielsen ได้แสดงให้เห็นว่า คนรุ่นมิลเลนเนียลกำลังจะขยายเป็นสองเท่าของคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ที่เพิ่งเริ่มบอกว่าตัวเองกำลังเปลี่ยนนิสัยเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญคือ เกือบ 40% ของคนรุ่นมิลเลนเนียลเลือกทำงานกับบริษัทที่เน้นเรื่องของความยั่งยืน และยังเต็มใจที่จะลดค่าจ้างเพื่อทำงานในบริษัทที่รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม เมื่อคนรุ่นมิลเลนเนียลกลายเป็นกลุ่มคนทำงานรายใหญ่ที่สุด องค์กรที่ไม่มีกลยุทธ์เพื่อความยั่งยืนก็อาจสูญเสียคนเก่งจำนวนมาก เพราะความยั่งยืนทำให้พนักงานมีแรงจูงใจในการทำงานมากขึ้น เพราะเห็นคุณค่าในสิ่งที่บริษัทกำลังทำอยู่

3.ผู้บริโภคยอมจ่ายให้กับองค์กรที่เน้นความยั่งยืน

ในมุมของผู้บริโภคนั้น จากการศึกษาของ Nielsen พบว่า 66% ของผู้บริโภคจะยอมจ่ายมากขึ้นหากผลิตภัณฑ์มาจากแบรนด์ที่มีความยั่งยืน และ 81% ของผู้บริโภคทั่วโลกต่างก็รู้สึกไปในทำนองเดียวกันคือ องค์กรต่าง ๆ ควรหันมาใส่ใจในเรื่องของความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม

ไม่เพียงองค์กรระดับโลกเท่านั้นที่ให้ความสำคัญเรื่องของความยั่งยืน องค์กรในประเทศไทยที่ให้ความสำคัญก็มีจำนวนมาก แต่องค์กรที่ให้ความสำคัญด้านนี้อย่างครอบคลุมและโดดเด่นที่สุดจนทำให้ได้เป็นองค์กรที่ได้อันดับ 1 ของโลก จากการจัดอันดับดัชนี DJSI 2021 ในหมวดธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ก็คือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน)

ก่อนที่จะไปสำรวจเหตุผลว่าทำไม True จึงได้เป็นอันดับ 1 ของโลกในด้านความยั่งยืนจากการจัดอันดับดัชนี DJSI เป็นเวลา 4 ปีติดต่อกัน ขอพาทุกคนไปความรู้จักกับดัชนี DJSI ที่ทั่วโลกยอมรับกันก่อน

ทำความรู้จักกับดัชนี DJSI

DJSI หรือชื่อเต็มว่า Dow Jones Sustainability Indices คือ ดัชนีที่ใช้ประเมินการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เน้นหลักในการประเมิน 3 ด้านที่เรียกว่า ESG ได้แก่ 1. การรักษาสิ่งแวดล้อม (Environment) 2. การดูแลสังคม (Social) 3. การมีธรรมาภิบาลทางธุรกิจ (Governance) ซึ่งเหตุผลที่ดัชนี DJSI ดึงความสนใจจากนักลงทุนได้มากกว่าธุรกิจที่มีแค่ผลประกอบการ นั่นก็เป็นเพราะ ดัชนี DJSI นับเป็นอีกหนึ่งเกณฑ์สำคัญของนักลงทุนที่ใช้ในการพิจารณาเพื่อจะเข้าไปลงทุนในองค์กรนั้น ๆ  เพราะบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับ DJSI ถือเป็นองค์กรที่มีหลักประกันถึงศักยภาพการบริหารงาน ว่าจะสามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีและมีความยั่งยืนให้กับผู้ลงทุนนั่นเอง

ต่อไปนี้จะเป็นเรื่องราวขององค์กรที่ได้รับการจัดอันดับดัชนี DJSI 2021 ที่มีคะแนนรวมสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก จากองค์กรใหญ่ 10,900 บริษัท เป็นการบอกเล่าถึงความสำเร็จนี้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และนักธุรกิจหน้าใหม่จะได้ประโยชน์อย่างไรจากเรื่องนี้

เผยเคล็ดลับจากองค์กรที่ได้อันดับ 1 ของโลก จากการจัดอันดับดัชนี DJSI 2021 บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน)

สำหรับอันดับ 1 ของโลก จากการจัดอันดับดัชนี DJSI 2021 ก็คือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) ในหมวดธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ซึ่งความสำเร็จนี้ กลุ่มทรูได้ใช้ยุทธศาสตร์ 3 H’s คือ Heart Health และ Home ดังรายละเอียดต่อไปนี้

Heart เน้นเรื่องของบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และการดูแลรักษาข้อมูลส่วนบุคคลให้ได้ 100% รวมถึงร่วมขับเคลื่อนการศึกษาด้วยโครงการทรูปลูกปัญญา และส่งเสริมการศึกษาเยาวชนไทยให้พร้อมเติบโตเป็นทั้งคนดีมีความสามารถมาแล้วกว่า 2.3 ล้านคน ผ่านมูลนิธิสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์อีดี ซึ่งปัจจุบันมีโรงเรียนที่อยู่ในการดูแล 5,567 แห่งทั่วประเทศ

Health สร้างสรรค์นวัตกรรมเชื่อมโยงทุกความต้องการของคนไทยยุค New normal ไปกับดิจิทัลแพลตฟอร์ม TRUE VWORLD เทคโนโลยีคลาวด์ที่ครบทุกโซลูชัน ทั้ง VWORK สนับสนุนภาคธุรกิจ และ VLEARN สนับสนุนสถาบันการศึกษา นักเรียนและนักศึกษา ให้สามารถเรียนออนไลน์ได้ทุกที่ ทุกเวลา

Home มีการติดตั้งพลังงานสะอาดอย่างเช่น โซล่าเซลล์ที่เสาสัญญาณและชุมสาย 3,481 แห่ง ณ สิ้นปี 2021 ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 12,570 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และยังเดินหน้าขยายการติดตั้งอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีการติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้าได้ 11,900 MWh ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 5,500 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ยุทธศาสตร์ทั้ง 3 H’s ของ TRUE ล้วนถูกนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม ก่อให้เกิดการเติบโตของธุรกิจได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสิ่งเหล่านี้หากมองกันในแง่ของการลงทุน หลายคนคงจะคุ้นหูกันดีกับคำว่า ‘หุ้นยั่งยืน’ ซึ่ง TRUE ก็เป็นจัดเป็นหุ้นในบริษัทยั่งยืนนี้เช่นกัน 

สำหรับแนวคิดของการพัฒนาองค์กรในแนวทางความยั่งยืนในแบบของ TRUE สามาถรับชมได้ในวิดีโอคลิปนี้

ดูวีดีโอ Full version ได้ที่นี่

หากเป็นการทำธุรกิจในยุคเก่า องค์กรอาจต้องผูกใจนักลงทุนด้วยเรื่องของ เงินทุน ผลกำไร ส่วนในด้านของพนักงานก็อาจคุยถึงเรื่องเงินเดือนเพียงอย่างเดียว แต่จากเรื่องราวที่ได้เล่าสู่กันฟังด้านบน ทำให้ทราบว่า ถ้าองค์กรทำธุรกิจบนความยั่งยืน ก็จะสามารถผูกใจนักลงทุนและพนักงานได้อย่างแท้จริง

#TrueTogether #TrueDJSI #TrueSustainability

ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.twi-global.com/technical-knowledge/faqs/faq-what-is-sustainability
https://www.forbes.com/sites/forbesbusinesscouncil/2021/02/10/why-corporate-strategies-should-be-focused-on-sustainability/?sh=15c69d077e9f
https://www.brandage.com/article/5184/tesla-Elon-Musk

 

อ่านต่อ